โรคกระดูกเสื่อมในผู้สูงอายุ อาการและปัจจัยเสี่ยง

โรคภัยไข้เจ็บในผู้สูงอายุนั้นมีอยู่มากมาย ด้วยความที่เมื่ออายุมากขึ้น สภาพร่างกายก็มีแต่จะเสื่อมลงและถดถอยไปตามกาลเวลา ซึ่งปัญหาสุขภาพอันดับต้นๆ ที่พบมากในผู้สูงอายุ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของสุขภาพกระดูกและข้อ โดยเฉพาะ ข้อเข่าเสื่อม โรคกระดูกเสื่อมในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นอาการที่พบมากในผู้สูงวัยโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป และพบว่าผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากภาวะหมดประจำเดือน โรคข้อเข่าเสื่อมสร้างความเจ็บปวดและส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก จึงควรหาทางป้องกันไว้
กลไกการเกิดโรคกระดูกเสื่อมในผู้สูงอายุ
โดยปกติข้อเข่าของคนเราจะประกอบไปด้วยกระดูก 3 ชิ้น ได้แก่ กระดูกต้นขา กระดูกหน้าแข้ง และกระดูกสะบ้า ยึดติดกันด้วยเส้นเอ็น โดยระหว่างกระดูกทั้งสามจะมีเนื้อเยื่ออีกหนึ่งชนิดคือกระดูกอ่อนที่ทำหน้าที่คอยรับแรงกระแทกขณะที่เราเคลื่อนไหวร่างกายและเพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกทั้งสามเกิดการเสียดสีกัน จะมีลักษณะเรียบลื่น มันวาว เราเรียกกระดูกอ่อนส่วนนี้ว่ากระดูกอ่อนผิวข้อ
ซึ่งภาวะโรคกระดูกเสื่อมในผู้สูงอายุ เกิดจากการเสื่อมสภาพของร่างกายที่มีความสัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น ทำให้เข่าต้องรับน้ำหนักและแรงกระแทกสะสมมาเป็นเวลานาน เกิดความเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อเข่า จนสึกหรอและบางลงเรื่อยๆ เมื่อกระดูกอ่อนเกิดการเสื่อมจนกระดูกบางลงมากๆ จะทำให้ปลายกระดูกของข้อเกิดการเสียดสีกันเกิดอาการเจ็บปวด และสามารถสังเกตเสียงในข้อขณะเคลื่อนไหว
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกระดูกเสื่อมในผู้สูงอายุ
นอกจากโรคข้อเข่าเสื่อมจะมีความสัมพันธ์โดยตรงจากอายุที่เพิ่มขึ้นแล้ว ก็ยังมีปัจจัยอื่นที่เป็นตัวเร่งและทำให้เกิดภาวะเข่าเสื่อมเร็วขึ้น เช่น
1. โรคข้ออักเสบ อื่นๆ เช่นโรคเกาต์ และข้ออักเสบรูมาตอยด์ อาจมีส่วนทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมตามมาได้
2. ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ยิ่งมีน้ำหนักตัวมากขึ้น ยิ่งจะเพิ่มแรงกระทำต่อข้อเข่าให้เพิ่มตาม และยังพบว่าเซลล์ไขมันที่ มากเกินอาจสร้างโปรตีนที่ส่งเสริมให้เกิดการอักเสบ ทำให้เกิดโรคกระดูกเสื่อมในผู้สูงอายุเร็วขึ้น
3. ผู้ที่มีการใช้ข้อเข่ามากเกินไป เช่น มีอาชีพที่ต้องย่อ คุกเข่า หรือขึ้นลงบันไดซ้ำๆ เป็นเวลานาน นอกจากนี้การ นั่งยองๆ การนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธินานๆ อาจทำให้เกิดแรงกดต่อข้อเข่า ส่งผลให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
4. ผู้ที่ออกกำลังกายประเภทที่มีความเสี่ยง เช่น การเล่นกีฬาที่มีการกระแทกรุนแรงซ้ำๆ ที่ข้อต่อ อย่างการวิ่งแข่ง หรือนักกีฬาบาสเกตบอล เป็นต้น
5. ผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุบริเวณข้อเข่า เช่น กระดูกข้อเข่าแตก หรือเอ็นฉีก
6. พันธุกรรม เช่น พบว่ามีบุคคลในครอบครัวเป็นข้อเข่าเสื่อม
อาการโรคกระดูกเสื่อมในผู้สูงอายุ
อาการเข่าเสื่อมสามารถแบ่งออกได้ 2 ระยะ ดังนี้
อาการโรคกระดูกเสื่อมในผู้สูงอายุ ในระยะแรกหรือระยะเริ่มต้น ในระยะนี้อาการปวดเข่าจะมีลักษณะเป็นๆ หายๆ ในขณะที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การเดินขึ้นลงบันไดหรือนั่งพับเข่า งอเข่า ซึ่งอาการจะทุเลาลงและหายไปเมื่อหยุดพักการใช้ข้อ รวมถึงมีอาการข้อฝืดเมื่อไม่ได้มีการเคลื่อนไหวนานๆ โดยเฉพาะในช่วงตื่นนอนตอนเช้า
อาการโรคกระดูกเสื่อมในผู้สูงอายุ ในระยะรุนแรง ในระยะนี้จะมีอาการปวดรุนแรงมากขึ้นและปวดนานขึ้น อาจจะมีอาการปวดตลอดเวลา จนบางครั้งก็ทำให้การดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันลำบาก ร่วมกับข้อเข่ามีลักษณะผิดรูปไปจากปกติ เช่น เข่าบวมโต หรือขาโก่ง และถ้าหากคุณมีอาการอื่นๆ เช่น มีอาการร้อนหรือบวมแดงบริเวณข้อข่า มีอาการปวดมากขึ้น และปวดตลอดเวลา มีเสียงดังกรอบแกรบ ขณะเหยียดหรืองอเข่า มีอาการเจ็บหัวเข่า ขณะลงน้ำหนักไปที่เท้า มีอาการชาหรืออ่อนแรง และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร มีไข้ น้ำหนักลด คุณควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันที
เนื่องจากโรคกระดูกเสื่อมในผู้สูงอายุ จะมีโอกาสเป็นเมื่อมีอายุมากขึ้น และเราไม่สามารถควบคุมปัจจัยเรื่องอายุได้ แต่เรายังสามารถป้องกันและชะลอการเกิดข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีอื่นได้ เช่น การควบคุมน้ำหนัก การปรับเปลี่ยนอิริยาบทให้เหมาะสมสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและการออกกำลังที่เหมาะสม เช่น การออกกำลังกายในน้ำ หรือการขี่จักรยาน เป็นต้น
นอกจากการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมแล้ว การเข้ารับการตรวจสุขภาพและรับการวินิจฉัยโรคโดยละเอียดยังเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไท มีแนวทางการวินิจฉัยโรคกระดูกเสื่อมในผู้สูงอายุ และการรักษาหลายวิธีด้วยเครื่องมือและทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากเข้ารับการวินิจฉัยโดยละเอียดก็จะทำให้แพทย์วางแผนป้องกันและทำการรักษาได้ทันท่วงที
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีสัญญาณเตือนของโรคกระดูกเสื่อมในผู้สูงอายุ ควรเริ่มให้ความสำคัญกับปัญหากระดูกและข้อก่อนจะลุกลามจนอาจถึงขั้นพิการหรือทุพลภาพ เครือโรงพยาบาลพญาไทแนะนำโปรแกรมคัดกรองสุขภาพกระดูกและข้อ โดยเทคโนโลยีเอกซเรย์กระดูกและข้อ เพื่อตรวจสอบความผิดปกติ จากข้อเสื่อม ข้อบาดเจ็บ ข้อติด สามารถรับคำปรึกษาและตรวจข้อเข่าโดยแพทย์เฉพาะทางสาขาออร์โธปิดิกส์ พร้อมรายการตรวจละเอียด อาทิ การตรวจมุมเหยียดหรืองอเข่า ตรวจการเคลื่อนไหว ตรวจแนวเข่าหรือขาที่ผิดรูป ตรวจเชิงลึกตำแหน่งที่รู้สึกเจ็บ และตรวจการเคลื่อนไหวบนพื้นต่างระดับ รายการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก (Bone Density) เพื่อค้นหาความสมบูรณ์ของกระดูก ป้องกันความเสี่ยงกระดูกกร่อนหรือหักได้ง่ายจากอุบัติเหตุ
บำรุงรักษาให้ดีก่อนอาการทรุดหนัก ป้องกันดีกว่าแก้ ดูแลตัวเองให้ดีเพื่อร่างกายนี้ได้อยู่กับเราไปอีกนานครับ
Comments