top of page

ปวดท้อง ท้องเสีย อาการธรรมดาที่อาจไม่ธรรมดา


โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังที่คุณไม่คุ้นเคยส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพมากกว่าที่คิด

ความผิดปกตินานัปการที่เกิดกับระบบทางเดินอาหารของเราแทบจะทุกเมื่อเชื่อวันนั้น อาจเป็นเรื่องที่ใครหลายคนคุ้นชินจนกระทั่งไม่เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่คุณทราบหรือไม่ว่า อาการทั่ว ๆ ไป อาทิ ปวดท้อง ท้องเสียที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนั้น อาจเกิดได้ทั้งจากปัจจัยภายนอก เป็นต้นว่า การติดเชื้อ แพ้อาหารที่รับประทาน และปัจจัยภายในอย่างความผิดปกติของเยื่อบุผนังลำไส้ เนื้องอกในลำไส้ หากโชคดี ผู้ป่วยบางรายอาจอาการดีขึ้นได้เอง แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่อาการจะดีขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ก็กลับมาเป็นอีกในเวลาไม่นาน จนอาการดังกล่าวกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินชีวิต

เรากำลังพูดถึงโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือ Inflammatory Bowel Diseases (IBD) ซึ่งหลายคนอาจเคยได้ยินอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ทราบชัดเจนนักว่าคืออะไร มีอาการอย่างไร รุนแรงแค่ไหน และจะส่งผลอย่างไรบ้างกับการดำเนินชีวิต

ฉบับนี้คุยกับ นพ. สิน อนุราษฎร์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์กลุ่ม (Group Medical Director) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินอาหารและตับ ซึ่งผ่านประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยทั้งชาวไทยและต่างประเทศมากว่า 30 ปี และมีความคุ้นเคยกับโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังเป็นอย่างดีจากการให้การรักษาผู้ป่วยหลายปีในสหรัฐอเมริกา

โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังคืออะไร

“Inflammatory Bowel Diseases หรือ IBD ยังไม่มีชื่อไทยอย่างเป็นทางการ” นพ. สินเริ่มอธิบาย “แต่พิจารณาจากอาการของโรคแล้วเราเรียกกันรวม ๆ ว่าลำไส้อักเสบเรื้อรัง เนื่องจากมีอาการแสดงคล้ายคลึงกับโรคลำไส้อักเสบชนิดเฉียบพลันที่มักจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสปรสิต หรือพยาธิ์ซึ่งรักษาหายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ”

สำหรับโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังเกิดขึ้นได้ทั้งในลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็กโดยสาเหตุของโรคนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด และจะมีโรคที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 โรค คือCrohn’s Disease (CD) และ Ulcerative Colitis (UC) “ทั้งสองโรคนี้พบได้บ่อยในชาวตะวันตกและชาวตะวันออกกลาง ส่วนชาวเอเชียก็พบได้บ้างแต่ยังน้อยอยู่มาก อีกทั้งยังไม่ค่อยมีการวินิจฉัยมากนัก อาจจะเนื่องด้วยความรู้ที่ยังมีอยู่อย่างจำกัดและความเป็นไปได้ที่ว่าโรคอาจมีอาการแสดงแตกต่างออกไปในชาวเอเชีย นพ. สินกล่าว” “ หากจะพิจารณาอาการ

แต่เพียงอย่างเดียวนั้นก็อาจ แยกโรคได้ลำบาก ทั้งนี้เพราะ ในช่วงแรก ทั้ง Crohn’s Disease และ Ulcerative Colitis นั้นคล้ายคลึงกัน”

นพ. สิน อนุราษฎร์

นพ. สินอธิบายถึงอาการของโรคและการวินิจฉัยว่า “หากจะพิจารณาอาการแต่เพียงอย่างเดียวก็อาจแยกโรคได้ลำบาก ทั้งนี้เพราะในช่วงแรก ทั้ง Crohn’s Disease และ Ulcerative Colitis นั้นมีอาการคล้ายคลึงกัน คือ ปวดเกร็งในช่องท้อง ท้องเสีย ในรายที่เป็นมากอาจถ่ายมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน รวมทั้งต้องตื่นมาถ่ายกลางดึกด้วย บางรายก็พบว่ามีเลือดปนมากับอุจจาระ มีไข้ น้ำหนักลดซึ่งเป็นผลมาจากความสามารถในการดูดซึมสารอาหารลดลง”

โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง แบ่งตามลักษณะของการอักเสบและตำแหน่งที่เกิดได้ 2 ชนิด คือ

Crohn’s Disease

Crohn’s Disease เป็นลำไส้อักเสบชนิดหนึ่งซึ่งอาจเกิดในระบบทางเดินอาหารส่วนใดก็ได้ตั้งแต่ปากถึงทวารหนักแต่โดยมากมักเกิดที่ลำไส้เล็กส่วนปลายและลำไส้ใหญ่ส่วนต้น โดยมีรอยโรคแตกต่างกัน 3 ลักษณะ ได้แก่

  • ผนังลำไส้อักเสบบวมคล้ายฝี (Abscess) เกิดจากความพยายามซ่อมแซมตัวเองของเนื้อเยื่อลำไส้ภายหลังการอักเสบ ส่งผลให้ผนังในลำไส้มีลักษณะตะปุ่มตะป่ำ จนช่องภายในลำไส้แคบลง และอาจกลายเป็นลำไส้อุดตันได้

  • ผนังลำไส้อักเสบเป็นแผลลึก (Fistulas) จนทะลุไปยังอวัยวะอื่นที่อยู่ติดกันเช่น จากลำไส้ทะลุไปยังกระเพาะปัสสาวะ หรือช่องคลอด เป็นต้น

  • การอักเสบทั่วไปในลำไส้โดยไม่มีลักษณะดังกล่าวข้างต้น แต่อักเสบกระจาย ๆ ทั่วไป (Patches)

ลำไส้อักเสบเรื้อรังชนิด Ulcerative Colitis เกิดขึ้นในลำไส้ใหญ่เท่านั้น โดยร่องรอยของการอักเสบจะเกิดขึ้นเฉพาะที่ผิวผนังลำไส้ อาการสำคัญคือ นอกเหนือจากการถ่ายอุจจาระปนเลือด มีไข้ อ่อนเพลีย น้ำหนักลดแล้วยังอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยอีก อาทิ ข้ออักเสบ ตาอักเสบ ตับอักเสบ ฯลฯ “อาการที่มักพบร่วมกับ Ulcerative Colitis อาจรักษา

ให้หายได้หลังจากรักษา Ulcerative Colitis เป็นที่เรียบร้อย ดังนั้น สิ่งสำคัญก็คือ แพทย์จะต้องวินิจฉัยให้ได้ตั้งแต่แรกและทำการรักษาที่ต้นตอของโรค เมื่อควบคุมได้ ก็ทำให้โรคที่สืบเนื่องต่อมาอย่างข้ออักเสบ ตับอักเสบ หายไปได้” นพ. สินกล่าวเสริม

เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการท้องเสียเรื้อรัง แพทย์จะซักถามข้อมูลว่าผู้ป่วยเป็นมานานเท่าไรแล้ว และได้พบแพทย์มาแล้วหรือยัง “หากพบว่าเป็นมานานกว่าสองสัปดาห์แล้วยังไม่หาย หรือพบแพทย์รับประทานยาแล้วก็ยังไม่หาย กรณีนี้ก็เข้าข่ายว่าเรื้อรัง” นพ. สินอธิบาย “สิ่งที่จะต้องตรวจต่อก็คือ ตรวจอุจจาระ เพาะเชื้อดูว่าติดเชื้ออะไรหรือไม่ หากไม่พบ

การติดเชื้อ แพทย์จะตรวจลำไส้เพื่อดูลักษณะการอักเสบโดยทำซีทีสแกน หรือส่องกล้องตรวจลำไส้เพื่อดูลักษณะของเนื้อเยื่อ ตำแหน่งที่เกิด และอาจมีการตัดชิ้นเนื้อมาตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันว่าผู้ป่วยเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังแน่ ๆ และเป็นชนิดใด”

การรักษาต้องอาศัยประสบการณ์

ปัญหาของผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังที่สำคัญและมีผลกระทบต่อวิถีชีวิต ได้แก่ การที่ผู้ป่วยต้องปวดท้องถ่ายบ่อยมาก และสิ่งที่ออกไปกับอุจจาระย่อมมีทั้งสารอาหาร โปรตีน ของเหลวต่าง ๆ และเลือดด้วย ส่วนผู้ป่วยลำไส้อักเสบเรื้อรังชนิด Ulcerative Colitis อาจถึงขั้นเสียชีวิต ส่วน Crohn’s Disease ก็เช่นเดียวกัน แม้จะไม่ถึงขั้นเสียชีวิตแต่ผู้ป่วยก็มีภาวะโลหิตจาง และมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่ทำให้ใช้ชีวิตปกติได้ลำบาก โดยหากปล่อยให้มีการอักเสบเรื้อรังไปเรื่อย ๆ ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มก็มีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้ “การรักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังทั้งสองชนิดมักจะใช้ยาเป็นการรักษาหลัก” นพ. สินกล่าว “เมื่อตรวจวินิจฉัยจนแน่ใจแล้วว่าเป็นโรคลำไส้อักเสบชนิดใด แพทย์จะให้ยาคุมเพื่อให้เยื่อบุลำไส้คืนสู่สภาพปกติจนไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ (Remission) ซึ่งเป็นเป้าหมายของการรักษา ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์และรับประทานยาคุมอาการอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีก (Flare up) ตามลักษณะของโรคเรื้อรัง”

ในรายที่ใช้ยารักษาแล้วยังไม่สามารถคุมอาการได้ หรือมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง แพทย์ต้องพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด “เมื่อรักษาด้วยการผ่าตัดในผู้ป่วยที่เป็นลำไส้อักเสบเรื้อรังชนิด Ulcerative Colitis ซึ่งเกิดเฉพาะในลำไส้ใหญ่ โรคก็หายขาดได้ แต่สำหรับ Crohn’s Disease การผ่าตัดไม่ได้ช่วยให้หายขาดเนื่องจากโรคเกิดได้ทั้งในลำไส้เล็กและใหญ่จึงมักจะไม่แนะนำ กรณีเดียวที่แพทย์จะผ่าตัดคือเป็นมานานแล้วไม่ได้รับการรักษาจนเกิดพังผืดในลำไส้ ส่งผลให้ลำไส้ตีบซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยสุขภาพเสื่อมโทรมเนื่องจากภาวะขาดอาหาร” นพ. สินอธิบาย ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ‘IBD คลินิก’

โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังนั้นวินิจฉัยได้ไม่ง่ายนักเพราะอาการหรือความผิดปกติมีลักษณะที่ไม่เฉพาะเจาะจง แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลทั้งยังแตกต่างกันตามปัจจัยด้านเชื้อชาติหรือลักษณะทางพันธุกรรม ประสบการณ์ของแพทย์ ประกอบกับความรู้ความเข้าใจถึงอาการผิดปกติและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อย่างถ่องแท้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องและให้การดูแลรักษาอย่างได้ผล

“ปัจจุบันโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังได้รับความสนใจมากขึ้นในประเทศไทย โดยที่ผ่านมาโรงพยาบาลฯได้ให้การดูแลผู้ป่วยลำไส้อักเสบเรื้อรังจากหลาย ๆ ประเทศทั้งที่เป็นชาวตะวันตก ชาวตะวันออกกลาง ชาวเอเชีย และชาวไทยรวม ๆ แล้วกว่า 300 ราย” นพ. สินกล่าวถึงการเปิดบริการ IBD คลินิก “เราจึงเล็งเห็นว่าการเปิดศูนย์การแพทย์เฉพาะทางไม่เพียงจะช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจว่าพวกเขาจะได้รับการดูแลโดยแพทย์ที่มีประสบการณ์และมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเป็นอย่างดีด้วยมาตรฐานเดียวกับศูนย์การแพทย์ชั้นนำในต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสให้มีการศึกษาและเก็บข้อมูลเปรียบเทียบเพื่อทำความเข้าใจถึงอุบัติการณ์ของโรคในคนไทยและชาวเอเชียได้ดีขึ้นอีกด้วย”

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นโรคเรื้อรังซึ่งผู้ป่วยจะต้องอยู่กับโรคไปตลอด แต่การอยู่กับโรคอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ได้ตามปกติอย่างมีความสุขก็เป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้ และจะดีกว่าหากคุณเอาใจใส่ตัวเองด้วยการสังเกตความผิดปกติของระบบขับถ่าย และปรึกษาแพทย์เมื่อสงสัยว่าเกิดปัญหา เพราะนี่คือก้าวแรกของการมีสุขภาพที่ดี อย่างแท้จริง

“โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังนั้นวินิจฉัยได้ไม่ง่ายนัก เพราะอาการหรือความผิดปกติมีลักษณะที่ไม่เฉพาะเจาะจงแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ทั้งยังแตกต่างกันตามปัจจัยด้านเชื้อชาติหรือลักษณะทางพันธุกรรม”

อาการทั่วไปของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังทั้งชนิด Crohn’s Disease และ Ulcerative Colitis มีอาการคล้าย ๆ กันให้คุณสังเกตได้ดังนี้ · ปวดเกร็งช่องท้อง กดเจ็บ · มีเลือดปนมากับอุจจาระ · ท้องเสีย ต้องถ่ายวันละหลาย ๆ ครั้ง · เหนื่อย เพลีย น้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ IBD หรือ IBS กันแน่?

โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Diseases - IBD) และภาวะลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome - IBS) อาจทำให้หลายคนสับสนเพราะมีอาการแสดงคล้ายคลึงกัน เช่น ปวดเกร็งช่องท้อง ท้องเสีย แต่ทั้งสองโรคมีความแตกต่างกันมาก กล่าวคือ ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังจะมีการอักเสบ มีแผลหรือปรากฏรอยโรคที่ผนังลำไส้ ขณะที่ภาวะลำไส้แปรปรวนจะไม่พบการอักเสบใด ๆ ที่ผนังลำไส้เลย นอกจากนี้ ภาวะลำไส้แปรปรวนมักจะพบได้บ่อยกว่าลำไส้อักเสบมาก

เครดิต : bumrungrad.com


Comentarios


Featured Posts
Recent Posts
Archive
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square

Thai holistic health

for king

  • w-facebook

โครงการสุขภาพดีวิถีธรรมวิถีไทยถวายในหลวง

สถาบันศาสตร์แห่งความสุขและความสำเร็จ

ชั้น 3 อาคารมูลนิธิโพธิรังสี 18/49 ม.5 ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120

โทร. 094-5598228 (ครูบอล)

bottom of page